หมอออนไลน์: พยาธิใบไม้ตับพยาธิใบไม้ตับ เป็นพยาธิที่ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในท่อน้ำดีตับจากการบริโภคปลาหรือสัตว์น้ำดิบ ๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยพยาธิใบไม้ตับจะอาศัยร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพื่อเจริญเติบโตและวางไข่ ส่งผลให้ท่อน้ำดีเกิดการอักเสบเรื้อรังหรืออุดตันจากไข่และตัวพยาธิ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรืออ่อนเพลีย แต่หากอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจตาเหลืองตัวเหลืองคันตามตัว หรือเบื่ออาหารได้
พยาธิใบไม้ตับที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ สายพันธุ์โอปิสทอร์คิส วิเวอร์รินี (Ophisthorchis Viverrini) มีลักษณะเรียวยาว ลำตัวแบน บาง และโปร่งใส หากโตเต็มวัยจะมีขนาดกว้างถึง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร และสามารถอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีของตับคนได้นานถึง 26 ปี
อาการของพยาธิใบไม้ตับ
ในระยะแรกของการติดเชื้อ หากพยาธิใบไม้ตับยังมีจำนวนไม่มาก และเนื้อตับยังมีการอักเสบหรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจยังไม่ปรากฏอาการใด ๆ แต่หากมีพยาธิใบไม้ตับสะสมอยู่จำนวนมากเป็นเวลานาน จนเกิดการติดเชื้อเรื้อรังและตับเสียหายมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเริ่มแสดงอาการคล้ายกับการป่วยโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป เช่น
รู้สึกร้อนบริเวณท้อง
อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง ท้องอืด
ท้องเสียเรื้อรัง หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก
ปวดหลัง
ปวดท้องบริเวณด้านขวาบนจากภาวะตับอักเสบ
เจ็บใต้ชายโครงขวา หรือใต้ลิ้นปี่
คลำพบตับหรือก้อนในท้องด้านขวาบน
อ่อนเพลีย
หากป่วยมานานแต่ไม่ได้รับการรักษา ตับอาจเกิดการอักเสบเสียหายมากขึ้น รวมทั้งมีพยาธิและไข่พยาธิอุดตันทางเดินน้ำดีในตับ จนผู้ป่วยอาจมีอาการตับและถุงน้ำดีโต ตาเหลืองตัวเหลืองเป็นครั้งคราว ขาดสารอาหาร และหากอาการทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
ปวดท้องด้านขวาบนเพิ่มมากขึ้น แน่นท้องจากตับโตมากขึ้น
เบื่ออาหาร ผอมลง
มีไข้ต่ำ
คันตามตัว
แขนขาบวม และมักมีน้ำในท้องหรือท้องมาน
มีปัสสาวะสีเข้ม และมีอุจจาระสีซีด
ตัวเหลือง ตาเหลือง
ภาวะท่อน้ำดีอุดตันถาวร
ตับและถุงน้ำดีโตมากจนคลำเจอเองได้
สาเหตุของพยาธิใบไม้ตับ
พยาธิใบไม้ตับมักเป็นการติดเชื้อจากพยาธิสายพันธุ์โอปิสทอร์คิสวิเวอร์รินีที่เข้ามาอาศัยภายในท่อน้ำดีตับจากการบริโภคปลาหรือสัตว์น้ำที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไปโดยไม่ผ่านการปรุงสุกให้ความร้อนฆ่าพยาธิ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาแก้มช้ำ ปลาขาวนา และปลาขาว หรือปลาจากการแปรรูปหมักดอง เช่น ปลาร้า และอาหารที่ปรุงจากปลาร้า เช่น ส้มตำ แจ่ว เป็นต้น
ตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับจะใช้ท่อน้ำดีตับของมนุษย์ในการเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย จนร่างกายได้รับความเสียหายและเกิดอาการป่วยต่าง ๆ ขึ้น โดยพยาธิใบไม้ตับมีวงจรชีวิต ดังนี้
มนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรับเอาตัวอ่อนลักษณะซีสต์ระยะเมตาเซอร์คาเรีย (Encysted Metacercariae) หรือระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับเข้าสู่ร่างกาย
พยาธิตัวอ่อนจะเข้าสู่ลำไส้เล็กและตับ ผ่านรูเปิดของท่อน้ำดีตับที่เปิดเข้าลำไส้เล็ก และเจริญเติบโตในท่อน้ำดีตับ
ตัวอ่อนจะอาศัยในท่อน้ำดีจนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย กลายเป็นหนอนพยาธิ
เมื่อคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นรังโรคของพยาธิใบไม้ตับขับถ่ายอุจจาระไม่เป็นที่ ไข่ของพยาธิใบไม้ตับที่ปนอยู่ในอุจจาระจะปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ และถูกกินโดยหอยน้ำจืด เช่น หอยขม จากนั้นตัวอ่อนจะอาศัยร่างกายของหอยน้ำจืดในการเจริญเติบโตเป็นระยะเซอร์คาเรีย (Cercaria)
ตัวอ่อนระยะเซอร์คาเรียจะไชออกจากหอยน้ำจืดลงสู่แหล่งน้ำ และไชเข้าไปอาศัยอยู่ในเนื้อปลาน้ำจืด จนเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนลักษณะซีสต์ระยะเมตาเซอร์คาเรียหรือตัวอ่อนระยะติดต่อ
เมื่อมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ บริโภคปลาที่มีพยาธิเข้าไป พยาธิก็จะเจริญเติบโตและวางไข่ในท่อน้ำดีตับต่อไป
การวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับ
ในเบื้องต้น แพทย์อาจวินิจฉัยอาการด้วยการซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับแหล่งอาศัย อาหารที่บริโภค และอาการต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้น จากนั้น อาจส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจตัวอย่างอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิ แต่หากตรวจไม่พบ แพทย์อาจต้องวินิจฉัยด้วยการหาสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ต่อพยาธิใบไม้ตับ จากอุจจาระหรือเลือดต่อไป
นอกจากนั้น หากพบภาวะตับโต แพทย์อาจส่งตรวจอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อหาภาวะแทรกซ้อนจากโรคพยาธิใบไม้ตับเพิ่มเติม
การรักษาพยาธิใบไม้ตับ
เพื่อการรักษาพยาธิใบไม้ตับอย่างเหมาะสม แพทย์อาจต้องพิจารณาจากผลการวินิจฉัยไข่พยาธิ ระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยการรักษาพยาธิใบไม้ตับ มีดังนี้
การใช้ยา
ยาพราซิควอนเทล รับประทานปริมาณ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 3 ครั้ง หลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน หรือปริมาณ 40-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง จากนั้น ไข่พยาธิในอุจจาระจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
ยาปฏิชีวนะ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
การผ่าตัด
แพทย์อาจต้องผ่าตัดหากเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินน้ำดี
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น กินยาแก้ปวด ต่อท่อเข้าไปในท่อน้ำดีเพื่อระบายน้ำดี ลดอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือเจาะน้ำออกจากท้องเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการแน่นท้องมากจากมีน้ำในท้อง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของพยาธิใบไม้ตับ
ผู้ป่วยพยาธิใบไม้ตับอาจปรากฏภาวะแทรกซ้อนได้ ดังต่อไปนี้
ภาวะโลหิตจาง
ติดเชื้อแบคทีเรีย
ท่อน้ำดีอักเสบติดเชื้อ
ถุงน้ำดีอักเสบ
ตับอ่อนอักเสบ
ตับแข็ง
มะเร็งท่อน้ำดี
ติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อกระจายไปทั่วร่างกาย
การป้องกันพยาธิใบไม้ตับ
เนื่องจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเกิดจากการบริโภคพยาธิใบไม้ตับเข้าสู่ร่างกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ดังนี้
เลิกรับประทานปลาหรือสัตว์น้ำจืดแบบดิบ ๆ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือแบบแปรรูปหมักดอง เช่น ปลาร้า
ปรุงอาหารจำพวกปลาหรือสัตว์น้ำจืดให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนบริโภคเสมอ ด้วยอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป
หากต้องการรับประทานเนื้อปลาดิบ ๆ ควรแช่แข็งปลาที่ความเย็นต่ำกว่าหรือเท่ากับ -20 องศาเซลเซียส ก่อนรับประทานเป็นเวลา 7 วัน
หลังรักษาหายแล้ว ควรตรวจอุจจาระเป็นครั้งคราวตามคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อป้องกันกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง