โรคไต เกิดจากอะไรโรคไต ถือเป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องดูแลรักษายาวนานตลอดชีวิต ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไตก็สูงมาก แล้วโรคไต เกิดจากอะไร มาดูคำตอบกันครับ
รู้จักอวัยวะที่ชื่อว่า “ไต”
ไตเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ จะมีรูปร่างคล้างเมล็ดถั่วแดง ขนาดประมาณ 9-13 เซนติเมตร มี 2 ข้าง วางตัวในลักษณะแนวตั้ง ขนานกับกระดูกสันหลังช่วงเอว อยู่บริเวณสีข้างของร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากร่างกาย โดยหลอดเลือดที่ไต จะพาเลือดในร่างกายของเรามาฟอก กรองของเสีย กำจัดยาและสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต และยังทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนในการผลิตเม็ดเลือดแดงของร่างกาย ทำให้ความเข้มข้นของเลือดในร่างกายเรา อยู่ในระดับปกติ
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไต
เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบกับไต เช่น เบาหวาน, ความดัน,โรคเก๊าท์ โรคต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมลง การทำงานของไตก็จะลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะไตเสื่อม
อายุมากกว่า 60 ปี เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ก็อาจจะทำให้การทำงานของไตลดลง
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต
มีประวัติการเป็นโรคไตอักเสบ หรือถุงน้ำในไต ก็ทำให้ไตเสื่อมได้เช่นกัน
การใช้ยาผิดประเภท ใช้ยาเกินขนาด จะทำให้การทำงานของไตลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในคนไทย
การทานอาหารรสจัดไม่ใช่เพียงแค่รสเค็ม รวมไปถึงหวานจัด หรือเผ็ดจัดด้วยเช่นกัน
ดื่มน้ำน้อยเกินไป
ไม่ออกกำลังกาย
มีความเครียด
กินอาการโซเดียมสูงเสี่ยงไต
โซเดียม เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ทำหน้าที่ ควบคุมระดับความดันโลหิต รักษาความสมดุลต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ร่างกายไม่สามารถผลิตโซเดียมเองได้ จึงได้รับโซเดียมผ่านการกินเป็นหลัก แต่หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากอาจจะทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไต เพราะปริมาณโซเดียมที่มากจะทำให้ไตไม่สามารถขับโซเดียมออกไปได้จนเกิดการสะสมไว้ในเลือด เมื่อมีโซเดียมมากไตก็จะยิ่งทำงานหนักผลที่ตามมาคือ ในหน่วยไตจะเกิดความดันสูงขึ้นจนเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะและนำพาไปสู่ภาวะไตเสื่อมในที่สุด
อาหารที่มีโซเดียมสูงมีอะไรบ้าง
เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซอสปรุงรส ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว กะปิ
อาหารแปรรูป หรืออาหารที่ผ่านกรรมวิธีถนอมอาหาร โดยใช้โซเดียมเป็นส่วนประกอบ เช่น เบคอน แฮม ผักกาดดอง ผลไม้กระป๋อง อาหารกระป่อง ไข่เค็ม เนื้อสัตว์แดดเดียว ปลาเค็ม ปลาร้า
อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก ข้าวต้มสำเร็จรูป ซุปต่าง ๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง
เครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผลไม้บรรจุกล่องที่ใส่สารกันบูด
ขนมและเบเกอรี่ต่าง ๆ ที่มีการเติมผงฟู เช่น ขนมปัง ขนมเค้ก โดนัท คุ้กกี้
ขนมคบเคี้ยว เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ปลาเส้น ขนมกรุบกรอบ
ปัจจุบันเราพบผู้ป่วยประมาณ 8 ล้านคนป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง เท่ากับ ในคนไทย 8 คนพบป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง 1 คนซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นควรดูแลตัวเอง ลดการบริโภคอาหารที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงโรคไต และความตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากโรคร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น