สงกรานต์นี้พร้อมเดินทางแล้วหรือยัง?
ใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว คงเป็นช่วงที่ใครหลายคนเฝ้ารอ จองสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อพักผ่อนชาร์ตพลังกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นขึ้นเขา ลงทะเล คาเฟ่น่ารัก ๆ นั่งถ่ายภาพพร้อมขนมและเครื่องดื่มสักแก้ว หรือแม้แต่การกลับไปหาครอบครัวหรือไปเยี่ยมญาติ ๆ ที่ต่างจังหวัด ถือเป็นช่วงเวลาคุณภาพสุดพิเศษประจำปี ดังนั้นเราเลยอยากเสนอเทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยให้การเดินทางทั้งใกล้และไกลในช่วงสงกรานต์ได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนมีความสนุกในช่วงเวลาสงกรานต์นี้
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทาง
ก่อนออกเดินทางก็ถือเป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่เตรียมการให้ดีอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเสียเวลามากกว่าเดิมแน่ ๆ แล้วแบบนี้ต้องเตรียมตัวยังไงให้พร้อมก่อนออกเดินทางดี
1. วางแผนการเดินทางให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเส้นทางที่จะไป และเลือกช่วงเวลาการเดินทางให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการขับรถ เพราะถ้าเลือกเวลาช่วงหลังเที่ยงคืน รถอาจจะไม่เยอะ แต่คนขับอาจจะง่วงและไม่พร้อมขับรถได้ รวมถึงคาดคะเนจุดแวะหยุดพักระหว่างทางด้วย
2. คนขับต้องนอนให้เต็มที่ ป้องกันอาการง่วงระหว่างขับรถ โดยการนอนพักผ่อนอย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง สำหรับวันก่อนออกเดินทาง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการหลับใน
3. ตรวจสอบสภาพของรถ คนขับพร้อมแล้วรถพร้อมหรือยัง? อย่าลืมตรวจสอบสภาพของรถให้เหมาะสมก่อนออกเดินทาง เพื่อความปลอดภัยและจะได้ไม่เสียเวลาจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง
4. จิบกาแฟสักแก้วก่อนเดินทางสัก 30 นาที ช่วยให้ตื่นตัวพร้อมเดินทาง แนะนำให้เลือกเป็นกาแฟดำที่ไม่ใส่น้ำตาล น้ำเชื่อม ครีมเทียม โดยอาจเลือกเป็นกาแฟดำกระป๋อง หรือกาแฟเข้ม ๆ ผสมนมสดได้เช่นกัน
เพียงเท่านี้เราก็เตรียมพร้อมกับการออกไปเที่ยวในช่วงสงกรานต์แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ในช่วงก่อนขับรถก็จะยังสดชื่นพร้อมออกเดินทาง แต่เมื่อขับรถไปสัก 1 – 2 ชั่วโมง แล้วก็มักจะเริ่มรู้สึกอ่อนล้าและงัวเงียขึ้นมา ควรทำยังไงดี? เรามีคำแนะนำมาฝากกัน
5 เทคนิคเล็ก ๆ คลายง่วง ปลอดภัยขณะเดินทาง
1. จิบกาแฟอีกสักหน่อย เติมพลังระหว่างขับรถ
หลังจากขับรถไปสักพักแล้วยังไม่ถึงที่หมายก็สามารถจิบกาแฟเพิ่มไปได้อีกนะ แต่อย่าลืมว่าในหนึ่งวันไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกิน 300 มิลลิกรัม โดยกาแฟดำ 1 แก้วมีคาเฟอีน 80 มิลลิกรัม กาแฟสด 1 แก้วมี 100 มิลลิกรัม และกาแฟกระป๋อง 1 กระป๋องมี 150 – 160 มิลลิกรัม ดังนั้นอาจจิบกาแฟดำหรือกาแฟในแบบที่ตัวเองชื่นชอบเพิ่มสักแก้วน่าจะดี อีกทั้งกลิ่นอโรมาหอม ๆ ของกาแฟยังช่วยให้รู้สึกตื่นตัวในระหว่างขับรถได้อีกด้วย
2. ดื่มน้ำเปล่าเติมความสดชื่น
น้ำเปล่าก็เป็นอีกทางเลือกทสำหรับคนไม่ดื่มกาแฟ หรือคนที่ต้องขับรถนาน ๆ แต่ดื่มกาแฟจนหมดแล้ว เลือกน้ำเปล่าที่ใสสะอาด ไม่มีสีหรือกลิ่น ช่วยเพิ่มความสดชื่น รักษาสมดุลน้ำในร่างกาย พร้อมช่วยลดอาการอ่อนเพลีย เพราะอาการง่วงที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากการที่ร่างกายขาดน้ำก็ได้ ดังนั้นอย่าลืมติดน้ำเปล่าเย็น ๆ สักขวด ไว้จิบระหว่างขับรถเติมความสดชื่น หรืออาจจะเลือกเครื่องดื่มที่มีรสชาติเปรี้ยว เช่น น้ำผลไม้สด หรือ ชาผลไม้ เพื่อเพิ่มความสดชื่นระหว่างขับรถ
3. งีบสักหน่อยได้มีแรงขับรถ
ถ้าต้องขับรถนาน ๆ แล้วง่วงมาก ๆ การได้งีบสักหน่อยก็จะช่วยให้สมองตื่นตัวมากขึ้น โดยการงีบ 10 – 15 นาที จะช่วยให้สมองตื่นตัวมากขึ้น และสามารถเลือกดื่มกาแฟก่อนหรือหลังจากการงีบได้ ในบางคนอาจได้ผลเมื่อดื่มกาแฟก่อนงีบ หรือที่เรียกว่า coffee nap เพราะคาเฟอีนจะเข้ามาช่วยทำให้ร่างกายตื่นตัวได้มากขึ้นหลังจากตื่นนอน
แวะยืดเส้นยืดสายสักนิด
4. แวะยืดเส้นยืดสายสักนิด
ปัจจุบันปั๊มน้ำมันส่วนใหญ่จะเป็นจุดพักรถที่มีร้านอาหารหรือร้านขนมไว้ให้บริการ รวมไปถึงพื้นที่นั่งพักสบาย ๆ ให้คนที่กำลังเดินทาง สามารถลงมาเดินยืดเส้นยืดสาย คลายความปวดเมื่อย และพักสายตา ให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น โดยสามารถใช้ท่ายืดเหยียดช่วยคลายความเมื่อยล้า เช่น
ท่ายืดไหล่ โดยยกข้างหนึ่งไปทางด้านข้างทำมุม 45 องศา แล้วใช้แขนอีกข้างพับแขนขึ้นมาหาตัว ดึงแขนให้ตึงที่สุดเพื่อยืดเส้นบริเวณหัวไหล่ แล้วหันหน้าไปฝั่งตรงกันข้ามแขน ค้างไว้ประมาณ 10 – 20 วินาที
ท่ายืดกล้ามเนื้อคอ โดยยกแขนขวาแล้วโอบไปจับที่หูข้างซ้าย แล้วค่อยๆเอียงคอไปทางขวาจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคอตึง แล้วค้างไว้ประมาณ 10 – 15 วินาที จากนั้นเปลี่ยนสลับข้างอีก 5 – 10 ครั้ง
5. อย่ากินให้อิ่มมากเกินไป
อย่างที่เรารู้กันว่าถ้าหนังท้องตึงหนังตาหย่อน เพราะเมื่อเรากินอาหารอิ่มมากเกินไป ร่างกายจะได้รับน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการหลั่งอินซูลินพร้อมกับ เซโรโทนิน และ เมลาโทนิน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกง่วงนอน ดังนั้นอาจจะเลือกกินอาหารให้อิ่มกำลังดี แล้วอาจพกอาหารว่างที่หยิบกินสะดวกไว้แก้หิวระหว่างเดินทางแทน เช่น แซนวิชทูน่า ช็อกโกแลตแท่งหวานน้อย นมรสจืด หรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม เป็นต้น
5 วิธีแก้ง่วงเวลาขับรถ พร้อมเดินทางปลอดภัย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/products/