แจกเวบลงประกาศฟรี, ลงประกาศฟรีออนไลน์ โพสฟรี โพสต์ขายของฟรี

General Category => ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี โปรโมทสินค้าฟรี ซื้อ ขาย เช่า => ข้อความที่เริ่มโดย: siritidaphon ที่ เมษายน 11, 2024, 12:21:19 pm

หัวข้อ: โรคไตวายเพราะยาเบาหวาน ความเข้าใจผิดที่ทำให้โรคแย่ลง
เริ่มหัวข้อโดย: siritidaphon ที่ เมษายน 11, 2024, 12:21:19 pm
โรคเบาหวาน หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลากหลาย หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ ไตเสื่อม ไตวาย

หลายคนเข้าใจว่าเพราะป่วยเป็นเบาหวานแล้วต้องกินยาเยอะมาก ทำให้ไตมีปัญหา จึงกลัวการกินยา หยุดยาเอง ไม่กินยา ผลก็คืออาการเบาหวานแย่ลง และยิ่งทำให้การรักษายุ่งยากซับซ้อนขึ้นมาก บทความนี้ พญ.ศศิภัสช์ ช้อนทอง แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม หรือ หมอจิ๊ง จะมาแนะนำข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อการดูแลร่างกาย และรับมือกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 
ไตวาย เพราะโรคเบาหวาน จริงหรือ ?

สิ่งแรกที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง คือ ไตวาย ไตเสื่อม หรือ โรคไตเรื้อรัง มาจากลักษณะการดำเนินโรคของโรคเบาหวาน ไม่ใช่ยาเบาหวาน โดยโรคเบาหวานนั้นมีอาการตรงตามชื่อ คือ มีน้ำตาลปนออกมากับปัสสาวะ จากภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง (มากกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)

“ในคนทั่วไป หากกลไกการทำงานของหน่วยไตเป็นปกติ ร่างกายจะสามารถดูดเอาน้ำตาลกลับไปทางหน่วยไต ไม่ได้ปะปนมากับปัสสาวะ แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไม่ว่าจะมาจากร่างกายขาดอินซูลิน หรือมีภาวะดื้ออินซูลินก็ตาม ทำให้การดูดซึมน้ำตาลของไตไม่มีประสิทธิภาพ น้ำตาลบางส่วนถูกปล่อยออกมา”

“เหตุผลที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้การทำงานของไตผิดปกติ มาจากน้ำตาลในเลือดก่อให้เกิดภาวะอักเสบ โดยเฉพาะในหลอดเลือด พออักเสบ เกิดแผล ร่างกายก็จะพยายามสมานแผล เกิดเป็นหินปูนหรือคราบตะกรันต่าง ๆ มาเกาะตามผนังหลอดเลือด เส้นเลือดจึงมีปัญหา รวมไปถึงเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กที่ไปที่ไต พอเส้นเลือดมีปัญหา ตีบแคบ เกิดความดันภายในหลอดเลือดเหล่านั้น ก็ส่งผลต่อหน่วยไต ช่วงแรกไตอาจยังทำงานได้ตามปกติ แต่จะมีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ และเมื่อไตต้องทำงานหนัก ทำงานเยอะกว่าปกติ อาจส่งผลให้ไตวาย หรือไตเสื่อมได้นั่นเอง”

หากมีโปรตีนรั่วมากับปัสสาวะไปสักระยะหนึ่ง จะทำให้เกิดการตายของหน่วยไต และเซลล์ที่อยู่บริเวณหน่วยไต ทำให้การทำงานในการกรองของเสียออกทางปัสสาวะลดลง จึงเกิดเป็น ภาวะเบาหวานลงไต


เมื่อใคร ๆ ก็โทษยาเบาหวาน

เมื่อป่วยเป็นเบาหวาน และมีภาวะไตเสื่อม ไตวาย บางครั้งแพทย์จำเป็นต้องเปลี่ยนยารับประทาน ในยาบางชนิดต้องขับออกทางไต หลายคนจึงมักเข้าใจว่าเป็นเพราะยาโรคเบาหวานที่เป็นตัวการให้ไตเสื่อม แต่ความจริงแล้ว ยาโรคเบาหวานนั้น มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไตด้วยซ้ำ

“ที่แพทย์ต้องปรับยา เพราะว่ายาบางชนิดขับออกทางไต เวลาผู้ป่วยมีภาวะไตเสื่อม การทำงานของไตจะลดลงจากภาวะเบาหวานที่คุมไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของยานั้น ๆ เยอะกว่าปกติ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ เลือดเป็นกรด สรุปแล้ว ที่เปลี่ยนยาไม่ใช่เพราะกลัวว่ากินเข้าไปแล้วทำให้ไตวาย แต่กลัวว่าการที่ไตทำงานได้ไม่ดี จะทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาเยอะขึ้นค่ะ”

ตามหลักแล้ว ยาเบาหวาน ไม่ได้ทำร้ายไต เนื่องจากยาออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ในระยะยาวจะช่วยลดโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง ป้องกันความดันไปทำให้เกิดปัญหากับไตได้

ในปัจจุบัน มียากลุ่มใหม่ ๆ ที่มีงานศึกษาวิจัย พบว่าช่วยป้องกันการเกิดภาวะไตเสื่อมได้ ได้แก่ ยากลุ่ม SGLT2 inhibitor มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ขับกลูโคสออกทางไต ทำให้เส้นเลือดที่วิ่งไปยังไตหดตัว จึงไม่ทำให้ความดันโลหิตส่งผลเสียต่อไต และปกป้องไม่ให้ไตเสื่อม

“ในระยะยาว มีการศึกษาในผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ พบว่านอกจากจะลดน้ำตาลในเลือดได้แล้ว ยังทำให้ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะดีขึ้นด้วย นอกจากยากลุ่มที่กล่าวไปข้างต้น ยังมียากลุ่มอื่นอีก เช่น GLP-1 agonists ซึ่งเป็นยาเบาหวานกลุ่มใหม่ที่สามารถลดภาวะโปรตีนรั่วได้เช่นกัน”

“ยาทั้งสองกลุ่มตอนนี้ราคาจะค่อนข้างสูง มีการเบิกจ่ายตามกรมบัญชีกลาง มีข้อบ่งชี้ในการพิจารณาจ่ายยาให้กับผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะไตเสื่อม และภาวะโปรตีนรั่ว อีกทั้งยังใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ป่วยที่มีปัญหาน้ำท่วมปอด ในยากลุ่ม GPL-1 agonists ยังสามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบอีกด้วย”

ถึงแม้ยาเบาหวาน จะไม่ใช่ยากลุ่มที่ส่งผลต่อการทำงานของไตอย่างที่เข้าใจ แต่ก็มียาบางกลุ่มที่ส่งผลต่อไต แต่หลายคนอาจมองข้าม และชอบซื้อมารับประทานเอง อาทิ ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยาปฏิชีวนะบางชนิด รวมไปถึงยาหม้อ ยาต้ม ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร บางครั้งยาเหล่านี้มักก่อให้เกิดปัญหากับไตโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบ


เมื่อผู้ป่วยหยุดยาเอง ความยากจึงบังเกิด

“มีคนไข้เยอะเลยที่หยุดยาเองเพราะคิดว่ากินยาเบาหวานแล้วทำให้เป็นโรคไต หมอเองก็ต้องคอยปรับความเข้าใจกับคนไข้ ว่าที่ไตแย่ลง เพราะไม่ยอมกินยา ไม่คุมเบาหวาน ไม่ใช่ไตแย่ลงเพราะกินยา”

หลังจากผู้ป่วยเบาหวานหยุดยาเอง ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น และมักจะมาด้วยอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักลด เหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง เพราะร่างกายเอาน้ำตาลส่วนเกินไปใช้ไม่ได้เลย อินซูลินไม่ดึงเอาน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน

“มีบางคนที่อยากน้ำหนักลด จึงปล่อยให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงค่ะ ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เรียกว่าอันตรายเลย หากน้ำตาลในเลือดสูงมาก เลือดก็เป็นกรด ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ ก่อให้เกิดอาการซึม สับสน ขาดน้ำ และไตวาย”


    อันตรายที่เกิดกับดวงตา

อย่างที่เข้าใจ ว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดต่าง ๆ จอประสาทตาเองก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีหลอดเลือดขนาดเล็กไปเลี้ยง เมื่อหลอดเลือดเหล่านี้มีปัญหา จอประสาทตาจึงเสื่อม การมองเห็นค่อย ๆ ลดลง บางครั้งอาจมีอาการเฉียบพลัน มองไม่เห็นไปเลย แต่โดยส่วนมากจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ผู้ป่วยรู้ตัวอีกที จอประสาทตาก็เสื่อม มีเลือดออกในวุ้นลูกตา หรือตาบอดไปแล้ว


    ชาปลายมือปลายเท้า

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เส้นประสาทส่วนปลายมีปัญหา จึงเกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า บางราย จะมีอาการที่เชื่อมโยงกับเส้นประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น ใจสั่น หน้ามืดบ่อย เวียนศีรษะบ่อย บ้างเหงื่อออกผิดปกติ บ้างไม่มีเหงื่อ ขนร่วง มือเท้าเย็น


    หลอดเลือดใหญ่อักเสบ

หลอดเลือดใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันดี คือ หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง หากมีอาการอักเสบจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก็อาจทำให้เกิดอาการหลอดเลือดตีบ และถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หลอดเลือดหัวใจจะมีโอกาสตีบสูงมาก ส่วนหลอดเลือดสมอง หากตีบก็อาจเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตได้

วลี ‘หวานตัดขา’ มีที่มา

อีกหนึ่งผลกระทบที่มาจากความเสียหายของหลอดเลือด คือ ขา เพราะเมื่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณปลายมือปลายเท้าตีบ อาจทำให้มีอาการเดินแล้วปวดขา ยกขาขึ้นสูงก็จะยิ่งปวด เนื่องจากเลือดลงไปเลี้ยงได้ไม่ดี

“บางคนมีแผลแล้วไม่รู้ตัว ตรงนี้เกิดจากเส้นประสาทที่ผิดปกติ ได้รับความเสียหายจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน อีกทั้งน้ำตาลยังทำให้ภูมิคุ้มกันผิดปกติ ติดเชื้อง่าย พอเป็นแผลแล้วก็จะหายยาก พอเป็นแผลแล้วไม่รู้ตัวก็ปล่อยลาม หลอดเลือดตีบทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ พอขาดเลือด แผลขยาย ยิ่งติดเชื้อเข้าไปใหญ่ รู้ตัวอีกที ต้องถูกตัดเท้าแล้ว”


เหตุผลที่ทำให้คนคุมเบาหวานไม่ได้

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาด้วยอาการจากโรคเบาหวานที่คุมไม่อยู่ เพราะไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานค่ะ” หมอจิ๊งตอบคำถามนี้ได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากคนไม่รู้ จึงไม่ได้คุม เมื่อรู้ตัวอีกทีก็ตอนมีอาการแทรกซ้อนแล้ว

“บางครั้งผู้ป่วยก็รู้ตัวว่ามีภาวะผิดปกติอะไรบางอย่าง เพียงแต่บางคนอดทน คิดว่าคงไม่มีอะไรมาก บางคนเชื่อว่าไม่ตรวจก็ไม่เจอ กลัวการตรวจสุขภาพ หรือบางคนก็เพราะละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี จึงไม่รู้ว่าตอนนี้สภาพร่างกายมันเปลี่ยนไปแค่ไหนแล้ว มีความผิดปกติอะไรแสดงออกมาไหม”

ความจริงแล้ว โรคเบาหวาน อาจไม่มีอาการที่บ่งบอกว่าเป็นเลย กว่าจะตรวจเจอเพราะเกิดความปกติ ก็อาจจะมีพยาธิสภาพของโรคเกิดขึ้นมาก่อนหน้ากว่า 10 ปีแล้ว การละเลยการตรวจสุขภาพประจำปีจึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้กว่าจะรู้ตัว การดำเนินของโรคก็สร้างความเสียหายให้กับร่างกายไปมากแล้วนั่นเอง

นอกจากนี้ ยาสมุนไพรบางอย่าง อาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ กินแล้วรู้สึกกระชุ่มกระชวย ผิวพรรณดี เปล่งปลั่ง หายปวดเมื่อย เจริญอาหาร เหมือนยาครอบจักรวาล พอหยุดกินจะอ่อนเพลียทันที ยาเหล่านี้หากกินต่อเนื่องในระยะยาวจะทำให้ระดับน้ำตาลใน
เลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไตวายได้

“ปัญหาอีกอย่างที่แก้ไม่ตก คือ พฤติกรรมการกินของผู้ป่วย เพราะลักษณะของโรคเบาหวาน คือ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ร่างกายของผู้ป่วยเอาไปใช้ไม่ได้ เลยทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและพลังงานไม่เพียงพอ ทำให้อยากกินของหวาน ๆ แล้วไปแอบกิน นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานคุมน้ำตาลไม่ได้ เพราะน้ำตาลเกิน แต่อวัยวะต่าง ๆ มีภาวะขาดน้ำตาล”

ทำไมต้องกินยา ต้องคุมน้ำตาล

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด นำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างแล้ว ยังก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลเป็นพิษ ซึ่งไปทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินน้อยลง หรือทำงานได้ไม่ดี พออินซูลินเอาน้ำตาลเข้าเซลล์ไม่ได้ น้ำตาลก็ค้างอยู่ในเลือด ก็ยิ่งทำให้การอักเสบและการดำเนินโรคแย่ขึ้นไปอีก แต่ถ้าหากผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการกินยา หรือควบคุมอาหาร เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในภาวะปกติ ตับอ่อนก็จะกลับมาทำงานได้มากขึ้น เพราะภาวะน้ำตาลเป็นพิษลดลงนั่นเอง

“จุดประสงค์ของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน คือ ทำยังไงก็ได้ให้การนำน้ำตาลไปใช้ในร่างกาย ใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด”
เมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวาน ควรตรวจสุขภาพอย่างละเอียด


“สิ่งสำคัญจริง ๆ คือ ควรรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวานให้เร็ว และเข้าถึงการรักษาให้เร็วที่สุด”

คุณหมอจิ๊ง แนะนำว่า เมื่อรู้ว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรตรวจภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ประเมินระยะของโรค ระดับน้ำตาลในเลือดสะสม รวมไปถึงเช็กว่ามีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่

ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจวัดระดับไขมันในเลือด ความดันโลหิต ตรวจการทำงานของไตและตับ ตรวจจอประสาทตา รวมไปถึงตรวจร่างกายอย่างละเอียดว่ามีภาวะเส้นเลือดสมองตีบอยู่ไหม มีอาการบางอย่างที่บอกว่าอาจมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบแล้วไม่รู้มาก่อนหรือไม่ ที่ขาดไม่ได้คือการตรวจเท้า ว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นแผลเบาหวานมากแค่ไหน

“สิ่งที่สำคัญแต่หลายคนมองข้ามคือการฉีดวัคซีน ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี เพราะระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง จะติดเชื้อง่าย ติดเชื้อนิด ๆ หน่อย ๆ ก็จะเป็นหนักกว่าคนอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ”

“โรคที่ว่ามามีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เมื่อติดเชื้อก็จะช่วยให้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือไม่ทำให้มีอาการหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจได้ โดยวัคซีนที่แนะนำคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดปีละครั้ง กับวัคซีนปอดอักเสบฉีดห้าปีครั้ง”
การรักษาที่เหมาะสม ช่วยได้

ในผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์จะประเมินตามอาการแสดงและระยะของโรคเป็นรายบุคคล ประกอบกับดูภาวะแทรกซ้อน เช่น หากมีภาวะโปรตีนรั่ว จะเลือกยาชนิดที่ช่วยป้องกันโปรตีนรั่ว ในรายที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบไปแล้ว จะเลือกยาที่ป้องกันการตีบซ้ำ

“หากเพิ่งป่วยเบาหวาน อายุไม่มาก ยิ่งรีบรักษา ยิ่งมีโอกาสที่จะช่วยให้โรคสงบ หยุดยาเบาหวานได้เป็นระยะเวลานาน ตราบใดที่ยังคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ค่ะ”

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนี้

    มีดัชนีมวลกายมากกว่า 23 (ภาวะน้ำหนักเกิน)
    มีประวัติครอบครัวป่วยโรคเบาหวาน
    มีอาการต้องสงสัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
    เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
    มีภาวะโรคอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง มีเส้นเลือดต่าง ๆ ผิดปกติ เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ


โรคไตวายเพราะยาเบาหวาน ความเข้าใจผิดที่ทำให้โรคแย่ลง  อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/298 (https://doctorathome.com/disease-conditions/298)